ท่านพระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตรฐิตวณฺโณป.ธ ๙) วัดโสมนัสวิหารกรุงเทพฯ กรณียเมตตสูตร Lyrics

พระสูตรบทกรณียเมตตสูตร

- กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
กิจอันใด อันพระอริยเจ้าบรรลุบทอันกระทำแล้ว กิจอันนั้นกุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงกระทำ

สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ และซื่อตรงดี เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่มีอติมานะ

สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
เป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีธุรกิจน้อย ประพฤติเบากายจิต

สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
มีอินทรีย์อันระงับแล้ว มีปัญญา เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย

นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
วิญญูชนติเตียนชนทั้งหลายอื่นด้วยกรรมอันใด ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นเลย

สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด

เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
สัตว์มีชีวิตทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง(คือมีตัณหา)หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา)ทั้งหมดไม่เหลือ

ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา
เหล่าใดยาวหรือใหญ่ หรือปานกลางหรือสั้นหรือผอมพี

ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้เห็น เหล่าใดอยู่ในที่ไกลหรือที่ไม่ไกล

ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
ที่เกิดแล้ว หรือแสวงหาภพก็ดี ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด

นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
สัตว์อื่นอย่างพึงข่มเหงสัตว์อื่น อย่าพึงดูหมิ่นอะไรๆ เขา ในที่ไรๆ เลย

พยาโรสะนา ปะฏิฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธด้วยความคับแค้นใจ

มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
มารดาถนอลูกคนเดียว ผู้เกดในตนด้วยยอมพร่าชีวิตได้ฉันใด

เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
ุพึงเจริญเมตตา มีในใจ ไม่มีประมาณในสัตว์ฉันนั้น

เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
บุคคลพึงเจริญเมตตา มีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น

อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องเฉียง เป็นธรรมอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู

ติฎฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น ยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี นั่งแล้วก็ดี นอนแล้วก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด

เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ก็ตั้งสติอันนั้นไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวกิริยาอันนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในพระศาสนานี้

ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีสะวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
บุคคลที่มีเมตตา ไม่เข้าถึงทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ ( คือโสดาปัตติมรรค)

กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติฯ
นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออก ย่อมไม่ถึงความนอน(เกิด)ในครรภ์อีก โดยแท้ทีเดียว

ประวัติ ตำนานกรณีเมตตสูตร

บทขัดกรณียเมตตสูตร

เหล่าเทพยาทั้งหลาย ย่อมไม่แสดงอาการอันน่าสะพรึงกลัว เพราะอานุภาพแห่งพระปริตรนี้ อนึ่งบุคคลไม่เกียจคร้าน สาธยายอยู่เนือง ซึ่งพระปริตรนี้ ทั้งในกลางวันและกลางคืนย่อมหลับเป็นสุข ขณะหลับย่อมไม่ฝันร้าย

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงสวดพระปริตร อันประกอบไปด้วยคุณดังกล่าวมาดังนี้เทอญ

ตำนาน
เรื่องมีว่า สมัยหนึ่ง จวนเข้าพรรษา พวกพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ในนครสาวัตถี ครั้นได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักสมเด็จพระบรมศาสดาแล้วหลีกไปหาที่สงัดเงียบสำหรับเจริญวิปัสสนาเดินทางไปได้สิ้นระยะทางประมาณ ๑๐๐ โยชน์

ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นพระภิกษุ มีความยินดี นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะอันสมควรแล้วอังคาสด้วยข้าวยาคู เป็นต้น พร้อมทั้งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจะไป ณที่แห่งใด

ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า เราจะไปแสวงหาสถานที่สบาย สำหรับปฏิบัติธรรมตลอดไตรมาส ชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวว่า จากนี้ไปไม่ไกลนัก มีป่าชัฏเป็นที่สงัด เงียบเป็นที่รื่นรมย์ ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย โปรดจงเจริญสมณธรรม ในที่นั้น ตลอดไตรมาสเถิด

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และรักษาศีลในสำนักของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พระภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์แล้วก็ออกเดินทางเข้าไปสู่ป่าชัฏเพื่อเจริญสมณธรรม

ฝ่ายพวกรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้ในป่านั้น ต่างพากันคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมาอาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้ของเราตัวเราและบุตรภรรยาขึ้นอยู่บนต้นไม้นี้ จักไม่เป็นการบังควรดูว่าจะไม่เคารพ พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย จึงพากันลงจากต้นไม้ มานั่งอยู่เหนือพื้นดิน ได้รับความลำบากมิใช่น้อย พวกรุกขเทวดาผู้ใหญ่ ได้พูดปลอบใจเทวดาผู้น้อยว่า ไม่เป็นไรหรอกชาวเราเอ๋ย พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้คงจะอยู่ ที่นี้ไม่นาน รุ่งขึ้นท่านก็คงจะจาริกไปที่อื่น ชาวเราทั้งหลาย จักได้กลับขึ้นไปอยู่บนวิมานของเราเหมือนเดิม

รุ่งสาง พระสุริยะก็ฉายแสงส่องลงมายังภาคพื้นปฐพี เหล่าภิกษุทั้งหลาย ก็พากัน ออกเที่ยวบิณฑบาตภายในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากป่านั้นนัก

พวกเทวดาต่างพากันคิดว่า ดีหละ พระเป็นเจ้าทั้งหลายคงจะย้ายที่อยู่ กันสิ้นแล้ว จึงพากันขึ้นไปสถิตยังต้นไม้ของตนตามเดิม

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ล่วงเวลาไปครึ่งเดือน พวกรุกขเทวดาจึงพากันคิดว่าชะรอยพระเป็นเจ้าคงจะอยู่ ณ ที่นี้ถ้วนไตรมาสเป็นแน่ เห็นทีชาวเราคงจะต้องลำบากไปตลอดไตรมาสด้วย เห็นทีชาวเราทั้งหลายจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ท่านไปเสียจากที่นี่

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว รุกขเทวดาต่างก็พากันแสดงตนให้ปรากฏต่อประสาทสัมผัสของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ด้วยอาการ กิริยา อันน่าสะพรึงกลัวต่าง เช่น ทำให้เกิดลมพายุพัด ทำให้เกิดฝนตกเฉพาะภาคพื้นนั้น ทำให้ดูประหนึ่งแผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น ทำให้เกิดเสียงร้องโหยหวนดังเสียงของเปรต หรือสัตว์นรกผู้กำลังได้รับทุกขเวทนาจากการโดนลงทัณฑ์ แม้ที่สุดกระทำให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวต่าง ๆ พวกภิกษุทั้ง รูปนั้นก็หาได้หนีจากที่นั้นไปไม่

รุกขเทวดาผู้ใหญ่เลยออกอุบายให้บริวารช่วยกันบันดาลให้เกิดโรคแก่ภิกษุเหล่านั้นมีอาการป่วยต่าง ๆ กัน เช่น โรคไอ โรคจาม โรคหอบ โรคนอนกรน โรคฝันร้าย โรคเหล่านี้ ทำให้กายของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีร่างกายซูบซีด ผอมแห้งได้รับทุกขเวทนา จนทนอยู่ ณ ที่นั้นมิได้ จึงพากันเดินทางหลีกหนี ออกจากป่าชัฏนั้น แล้วชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ประสบมา ให้พระบรมศาสดาทรงทราบ

พระผู้มีพระภาค เมื่อได้ทรงสดับ การที่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้ประสบมา จึงทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป กลับไปเจริญสมณธรรมในที่เดิม

จึงทรงประทาน เมตตาสูตร ให้แก่พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้เรียนเพื่อใช้ป้องกันภัยจากภูต และเทวดา ยักษ์ทั้งปวงโดยมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสาธยายพระสูตรนี้ ตั้งแต่ชายป่า จนถึงภายนอก และภายในที่พัก เช่นนี้ ความสวัสดีจะมีแก่เธอทั้งหลาย

ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ได้เรียนพระพุทธมนต์ จนขึ้นใจแล้ว จึงพากันเดินทางกลับไปยังป่าชัฏดังเดิม ครั้นถึงชายป่าชัฏ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็สาธยายพระพุทธมนต์บท เมตตาสูตร จนเดินถึงที่พัก

พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย ได้สดับเสียงเจริญ เมตตาสูตร จากปากพระภิกษุทั้ง๕๐๐ รูป ก็มีจิตเมตตา รักใคร่ พากันมาต้อนรับปฏิสันถาร รับบาตรจีวรช ปัดกวาด หาน้ำใช้ แล้วคอยรับใช้ อภิบาลรักษาอยู่ตามแนวป่า มิให้มนุษย์ อมนุษย์และสัตว์ร้ายใด ๆ มารบกวน ทำร้ายพระเป็นเจ้าของตน

ภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้อยู่เป็นที่สงบสุขแล้ว หมั่นตั้งจิตบำเพ็ญ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดกลางวันและกลางคืน จนจิตหยั่งลงสู่วิปัสสนาญาณ เห็นความเสื่อมในร่างกายของตน ว่าอัตภาพนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ประดุจภาชนะดินเผา ที่เปราะบางแตกทำลายลงง่าย ไม่คงทนถาวร ขณะที่เป็นอยู่ก็เป็นภาระ ที่ต้องประคับประคองรักษาแม้ที่สุดก็หาได้มีตัวตนที่แท้จริงไม่

องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะทรงประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎี ทรงทราบสภาวะธรรม ที่เกิดขึ้นในจิตของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปด้วยพระญาณ จึงทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏเฉพาะหน้า แก่ภิกษุเหล่านั้น ดุจดังว่าเสด็จมาเองเฉพาะภิกษุแต่ละองค์ และทรงตรัสพระคาถาว่า

ภิกษุทั้งหลาย กายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน จิตนี้เปรียบเหมือนนคร ที่มีข้าศึกคอยจ้องรุกรานโจมตีคือกิเลส อาวุธที่จะใช้กำราบกิเลส ก็คือปัญญา ขณะที่เรากำลังรุกรบกับข้าศึกคือกิเลส ก็ต้องระวังดูแลรักษาหม้อดิน คือกายนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น กายนี้เป็นภาระอย่างยิ่ง และเหตุแห่งการเกิดกายนี้ ก็คือกรรมอวิชชาความไม่รู้ ความรู้วิชา ทำให้รุ่งเรืองปัญญา ดับเหตุแห่งอกุศลกรรมเสียได้ ย่อมไม่พัวพันต่อชาติภพย่อมมีชัยชนะในโลก

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยประการฉะนี้

See also:

87
87.69
Ron Kenoly Praise The Lord All Nations Lyrics
Сергей Калугин Сонет #3 Lyrics